Thursday, March 29, 2007

ฤทธิเบียร์-เหล้า เมาแล้วทำร้ายผู้หญิงสูงกว่าร้อยละ 70

นพ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร เดินทางไปเยี่ยมผลการดำเนินงานของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ ที่ถนนเดชะตุงคะ แขวงสีกัน ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อติดตามผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นต้นเหตุให้ผู้หญิงและเด็กต้องรับเคราะห์กรรม และหารือแนวทางการป้องกันผู้หญิงและเด็กไม่ให้ถูกทำร้ายจากฤทธิ์เหล้า– เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.มรกต กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในวันนี้ พบว่าข้อมูลจากสถิติผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวของบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ในปี 2549 มีผู้หญิงและเด็กมารับบริการทั้งสิ้น 68 ราย ในจำนวนนี้มีแม่กับลูกร้อยละ 47 ผู้หญิงและเด็กส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 26-35 ปีร้อยละ 56 รองลงมาคืออายุ 36-45 ปีร้อยละ 24 และพบว่าผู้ที่กระทำกับผู้หญิงและเด็กคือสามีร้อยละ 96 ปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กคือ เหล้า–เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 74 โดยจะทำร้ายด้วยการตบตี เตะต่อย ใช้ของมีคม เช่น มีดหรือคัดเตอร์ปาดคอ ไล่ฟันและร่วมเพศ ใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะ ไล่ออกจากบ้าน หรือท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ฯลฯ ที่เหลือเกิดจากสารเสพติดร้อยละ 11 จากอารมณ์ร้อยละ 9 และมีผู้หญิงอื่นร้อยละ 8 สำหรับการดำเนินการทางกฎหมาย พบว่าไม่ได้แจ้งความถึงร้อยละ 72
นพ.มรกต กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าเหล้า– เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กถูกทำร้ายร่างกายมากที่สุด เนื่องจากเหล้าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ อุปนิสัยเฉพาะตน หรือพฤติกรรมของคนกินเหล้า ที่เรียกเหล้าว่าน้ำเปลี่ยนนิสัย ทำให้ผู้ใกล้ชิดในครอบครัว สถานที่ทำงานและสังคมในวงกว้างเดือดร้อน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความแตกร้าวในครอบครัว อาชญากรรม ขโมยทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งเป็นการทำลายคุณภาพชีวิต การดำรงชีวิตและสังคมของประเทศ
“ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเหล้า เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ละเอียดลออ ซึ่งใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว เหล้า-เบียร์เป็นตัวปัญหาทำลายความสุขของตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ดังนั้นการป้องกันและควบคุมจึงต้องร่วมกันทุกๆ ฝ่าย และไม่เฉพาะผู้กินเหล้าซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจและปฏิบัติตน หากได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้วก็จะประสบผลสำเร็จ โดยจะต้องดำเนินการหลายๆ มาตรการพร้อมๆ กันไปอย่างบูรณาการ จะใช้มาตรการใดเพียงมาตรการเดียว ผลลัพธ์ที่จะได้น้อยมาก แต่ถ้าดำเนินการพร้อมๆ กันไป ผลที่ได้ในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสูงขึ้นอย่างทวีคูณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่ามาตรการห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขายแบบเบ็ดเสร็จ เป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ถ้าไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจเหล้า–เบียร์แล้ว จะส่งผลให้มาตรการอื่นๆ ไม่ได้ผล” นพ.มรกต กล่าว.
ข่าวจากเดลินิวส์

องค์กรงดเหล้าหนุนกม.คุมแอลกอฮอล์

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 29 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนจาก 10 องค์กรงดเหล้า เดินทางเข้าให้กำลังใจและขอบคุณ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ที่ผลักดันร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวาระแรก โดยนพ.มงคล กล่าวว่า ในวันที่ 2 เม.ย.จะมีการประชุมกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเลือกประธาน รองประธาน เลขานุการ และตำแหน่งต่างในคณะกรรมาธิการฯ เชื่อว่ากรรมาธิการทั้ง 31 คนจะพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนมากที่สุด ด้านนายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ช่วยเหลือภาครัฐลดปัญหาแอลกอฮอล์แห่งชาติ (สชอ.) กล่าวว่า การที่ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .....เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามก็มีเสียงทักท้วงในหลายมาตราในร่างกฎหมาย โดยเฉพาะการห้ามโฆษณาเหล้าตลอด 24 ชั่วโมงนั้นไม่ได้ช่วยลดปัญหานักดื่มหน้าใหม่ให้น้อยลง เนื่องจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าประเทศที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมียอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นทุกปี เพราะผู้ผลิตแข่งขันกันลดราคา หลังจากนี้ สชอ. จะร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ทำหนังสือถึง อธิบดีกรมสรรพสามิต เสนอให้ผู้ประกอบที่ดีและมีจริยธรรมในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตในการขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ส่วนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พ.ต.ท.สงคราม เสงี่ยมพักตร์ รอง ผกก.5 บก.จร. กล่าวว่า จากการสำรวจผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถในเดือน ก.พ. 2550 ในเขตกรุงเทพฯ เกือบ 2,400 คน โดย 99% เป็นผู้ชาย พบว่า ส่วนใหญ่มีอายุ 20-35 ปี การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี 72% ปริญญาตรี 20.53% ที่เหลือสูงกว่าปริญญาตรี เครื่องดื่มที่ดื่มนั้นส่วนใหญ่ดื่มเบียร์ และวิสกี้ เด็กวัยรุ่นที่ตรวจพบนั้นส่วนใหญ่มีแอลกอฮอล์ในร่างกายมากกว่า 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และมีการดื่มสุราขาวผสมกับน้ำอัดลม น้ำหวานมากขึ้น เพราะมีราคาถูก.

เผยรถบัสไทยเกิดอุบัติเหตุ 4,000 คันต่อปี

ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 29 มี.ค. รศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ จากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง “ชีวิตคนใช้รถยนต์โดยสาธารณะปลอดภัยแค่ไหน” ว่า จากโครงการวิจัยปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารในประเทศไทย ระหว่างปี 2542-2548 พบว่า มีรถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุมากถึง 4,000 คันต่อปี หรือประมาณ 3 %จากอุบัติเหตุทั้งหมด เมื่อจำแนกอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ในปี 2548 จะพบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 2,269 คัน หรือ 57.4 % ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 1,685 คัน หรือ42.6% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2549 รถโดยสารของบริษัท บขส และรถร่วม บขส.เกิดอุบัติเหตุ 588 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 218 ราย บาดเจ็บ 1,944 ราย
ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า จากการสืบสวนกรณีรถโดยสารปรับอากาศเกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ที่ จ.สระบุรีส่งผลให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตถึง 30 รายนั้น ผู้เชี่ยวชาญสรุปความเห็นจากสมมุติฐาน ว่า รถโดยสารคันดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ให้ใหญ่ขึ้นและมีแรงม้ามากขึ้น ขณะที่วิ่งเมื่อล้อหมุนจึงเกิดการล็อกล้อขึ้น ส่งผลให้เกิดความร้อนขึ้นที่ดุมล้อ เมื่อคนขับพยายามปลดล็อค แต่ขาดความรู้ในการอุดสัญญาณที่ส่งมาจากระบบเบรก เมื่อมีการหมุนอย่างต่อเนื่อง เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักทำให้ความร้อนที่ดุมล้อเพิ่มสูงขึ้นทำให้ยางล้อหลังเกิดการลุกไหม้ และเมื่อคนขับพยายามลดความเร็วโดยการใช้เกียร์ต่ำ ทำให้เพลาไม่สามารถทนต่อภาระงานได้ จึงหลุดกระแทกกับผิวถนนจนเกิดเป็นประกายไฟ ไปติดกับน้ำมันดีเซลในถังที่กระจายออกมาทำให้ไฟลุกท่วมทั้ง
คัน.

ข่าวจากเดลินิวส์