นพ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะผู้บริหาร เดินทางไปเยี่ยมผลการดำเนินงานของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ ที่ถนนเดชะตุงคะ แขวงสีกัน ดอนเมือง กรุงเทพฯ เพื่อติดตามผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นต้นเหตุให้ผู้หญิงและเด็กต้องรับเคราะห์กรรม และหารือแนวทางการป้องกันผู้หญิงและเด็กไม่ให้ถูกทำร้ายจากฤทธิ์เหล้า– เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.มรกต กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมในวันนี้ พบว่าข้อมูลจากสถิติผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวของบ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ในปี 2549 มีผู้หญิงและเด็กมารับบริการทั้งสิ้น 68 ราย ในจำนวนนี้มีแม่กับลูกร้อยละ 47 ผู้หญิงและเด็กส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 26-35 ปีร้อยละ 56 รองลงมาคืออายุ 36-45 ปีร้อยละ 24 และพบว่าผู้ที่กระทำกับผู้หญิงและเด็กคือสามีร้อยละ 96 ปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กคือ เหล้า–เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 74 โดยจะทำร้ายด้วยการตบตี เตะต่อย ใช้ของมีคม เช่น มีดหรือคัดเตอร์ปาดคอ ไล่ฟันและร่วมเพศ ใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะ ไล่ออกจากบ้าน หรือท้องแล้วไม่รับผิดชอบ ฯลฯ ที่เหลือเกิดจากสารเสพติดร้อยละ 11 จากอารมณ์ร้อยละ 9 และมีผู้หญิงอื่นร้อยละ 8 สำหรับการดำเนินการทางกฎหมาย พบว่าไม่ได้แจ้งความถึงร้อยละ 72
นพ.มรกต กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าเหล้า– เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงหรือเด็กถูกทำร้ายร่างกายมากที่สุด เนื่องจากเหล้าก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ อุปนิสัยเฉพาะตน หรือพฤติกรรมของคนกินเหล้า ที่เรียกเหล้าว่าน้ำเปลี่ยนนิสัย ทำให้ผู้ใกล้ชิดในครอบครัว สถานที่ทำงานและสังคมในวงกว้างเดือดร้อน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความแตกร้าวในครอบครัว อาชญากรรม ขโมยทรัพย์สิน ฯลฯ ซึ่งเป็นการทำลายคุณภาพชีวิต การดำรงชีวิตและสังคมของประเทศ
“ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเหล้า เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน ละเอียดลออ ซึ่งใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมาเป็นเวลานานแล้ว เหล้า-เบียร์เป็นตัวปัญหาทำลายความสุขของตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ดังนั้นการป้องกันและควบคุมจึงต้องร่วมกันทุกๆ ฝ่าย และไม่เฉพาะผู้กินเหล้าซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจและปฏิบัติตน หากได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังแล้วก็จะประสบผลสำเร็จ โดยจะต้องดำเนินการหลายๆ มาตรการพร้อมๆ กันไปอย่างบูรณาการ จะใช้มาตรการใดเพียงมาตรการเดียว ผลลัพธ์ที่จะได้น้อยมาก แต่ถ้าดำเนินการพร้อมๆ กันไป ผลที่ได้ในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสูงขึ้นอย่างทวีคูณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบว่ามาตรการห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขายแบบเบ็ดเสร็จ เป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ถ้าไม่ควบคุมการส่งเสริมการตลาดของธุรกิจเหล้า–เบียร์แล้ว จะส่งผลให้มาตรการอื่นๆ ไม่ได้ผล” นพ.มรกต กล่าว.
ข่าวจากเดลินิวส์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment